1 Views
My Octopus Teacher (2020) บทเรียนจากปลาหมึก
8.1 IMDB Rating

My Octopus Teacher (2020) บทเรียนจากปลาหมึก

(My Octopus Teacher)
หมวดหมู่
ผู้กำกับ ,
นักเขียน Pippa Ehrlich, James Reed
นักแสดง ,
รางวัล Won 1 Oscar. 12 wins & 13 nominations total
My Octopus Teacher บอกเล่าบทเรียนชีวิตจากเจ้า “หมึกสาย” ใต้ท้องทะเลตัวหนึ่งที่ส่งพลังชีวิตให้กับชายคนหนึ่งได้กลับมามีกำลังใจในการใช้ชีวิตอีกครั้ง หลังกำลังเผชิญภาวะหมดไฟในตัว และเฉยเมยต่อสิ่งต่างๆ รอบข้าง

หนังสารคดีเรื่องนี้เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมมาได้ โดยตัวหนังสารคดีที่ว่ากันตามจริงเกือบจะเป็นหนังสารคดีตามติดชีวิตสัตว์โลกแบบที่เราคุ้นชินตา แต่ที่ทำให้หนังสารคดีเรื่องนี้พิเศษขึ้นมาคือการผูกโยงเข้ากับความนึกคิดและมุมมองชีวิตของคนทำหนังสารคดีเรื่องนี้เข้าไปด้วย

เครก ฟอสเตอร์ เป็นนักสร้างหนังที่เขาตระหนักได้ว่ากำลังอยู่ในช่วงวัยที่เบื่อหน่ายต่อชีวิตและสิ่งรอบข้าง การมองไม่เห็นเป้าหมายใMy Octopus Teacher (2020) บทเรียนจากปลาหมึกนชีวิต และอาการของเขาที่บรรยายไว้ในสารคดีว่า มีความเหินห่างจากครอบครัวภรรยาและลูก ทั้งที่ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างปกติดี

My Octopus Teacher ดำเนินเรื่องอยู่ในท้องทะเลที่แอฟริกาใต้ เล่าเรื่องผ่าน “เครก” ที่นอกจากเป็นนักทำหนังและสารคดีแล้ว เขายังมีทักษะดำน้ำในแบบ Free Dive หรือการดำน้ำแบบอิสระ ที่มีอุปกรณ์แค่ตีนกบ และหน้ากาก โดยการดำน้ำวิธีนี้จะใช้เทคนิคกลั้นหายใจดำลงไป โดยไม่ใช้ถังออกซิเจนหรืออุปกรณ์ช่วยหายใจอย่างอื่น

“เครก” จมจ่อมอยู่กับตัวเองไปในแต่ละวัน จนวันหนึ่งที่ไม่ได้มีความหมายอะไรนัก เขาคว้าอุปกรณ์ฟรีไดฟ์ไปดำน้ำใต้ท้องทะเล และดูเหมือนว่าโลกใต้ทะเลจะเรียกความสนใจเขาได้ระดับหนึ่ง

ไม่นานจากนั้น “เครก” ค้นพบบริเวณชายฝั่งที่เงียบสงบเชื่อมกับแอ่งทะเล เขาลองดำน้ำลงไปสำรวจ และพบว่าข้างใต้นั้นเป็น “ป่าสาหร่าย” ใต้ทะเล ก่อนจะดำลึกและไกลออกไปอีกนิดก็จะเจอสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์แหวกว่าย ซ่อนตัว บ้างก็แช่นิ่งไปตามสัญชาตญาณ

“เครก” ได้พบ “เธอ” หรือ “หมึกสาย” ตัวใหญ่ที่ใต้ท้องทะเลบริเวณนี้ ความทรงจำแรกที่ “เครก” พบเจ้าหมึกสายตัวนี้ คือภาพบรรดาเปลือกหอยหลากสีหลายแบบ เศษปะการังกำลังจับตัวเกาะกันเป็นทรงกลมแบบลูกบอล ไม่นานทั้งหมดก็กระจายหลุดออกจากกัน และชั่วขณะนั้นก็มีหมึกสายพุ่งตัวทะลวงออกมาจากเปลือกหอยและเศษปะการัง ตวัดหนวดแหวกว่ายน้ำไปอย่างรวดเร็ว คนดูปะติดปะต่อได้ในทันทีว่าเปลือกหอยและเศษปะการังนั้นเกาะเกี่ยวหุ้มตัวหมึกสายไว้ ซึ่งมันเองก็ห่อตัวม้วนเก็บหนวดจนแทบมองไม่เห็นนั่นเอง

ถือเป็นการเปิดตัวพบกันของคนทำหนังสารคดีกับเจ้าหมึกสายได้แบบน่าประหลาดใจเลยทีเดียว แม้จะสงสัยว่าธรรมชาติของพฤติกรรมนี้คืออะไรและจะแปลเจตนาได้อย่างไร แต่หนังสารคดีได้เก็บตอนเฉลยฉากความทรงจำแรกนี้ไว้ในช่วงท้ายเรื่อง ซึ่งก็ถือเป็นอีกหนึ่งไคลแมกซ์ของตัวหนังสารคดี

หลังการพบกันครั้งนั้น “เครก” ถูกชะตากับท้องทะเลส่วนนี้ และอยากจะดำลงไปสำรวจให้มากขึ้น เขาจึงตัดสินใจที่จะให้จุดดำน้ำนี้เสมือนเป็น “แหล่งพักพิงทางใจ” ส่วนตัวของเขาที่จะมาที่นี่ในทุกวัน และที่สุดเขาก็เข้าสู่การตามติดวงจรชีวิต เจ้าหมึกสายตัวนี้อยู่ร่วมปี

แม้จะตอบไม่ได้เต็มปากเต็มคำนักว่า หมึก..สัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังจะมีความนึกคิดผูกพันอะไรได้กับนักดำน้ำที่แวะมาหามันทุกวัน แต่การดำเนินเรื่องในสารคดีก็ทำให้เห็นว่า หมึกสายตัวนี้คุ้นเคยกับ “เครก” มากขึ้นเรื่อยๆ จนมันไม่ว่ายน้ำหนีหรือพรางตัวซ่อนในโพรงหินตามสัญชาตญาณ เมื่อเทียบกับที่มันต้องคอยหนีการถูกไล่ล่าเป็นอาหารของ “ฉลามพาจามา” (Pyjama shark) ที่ถือเป็นนักล่าในห่วงโซ่สูงสุดของท้องทะเลบริเวณนี้

แต่ไม่ว่าหมึกสายจะรับรู้ด้วยสัญชาตญาณใดในความเป็นมิตรระหว่างมันกับนักดำน้ำ แต่ “เครก” บอกว่าการได้ติดตาม สังเกต เฝ้ามอง เป็นห่วง เจ้าหมึกสายตัวนี้ตลอดเวลากว่า 1 ปี ได้เปลี่ยนห้วงอารมณ์อันเหี่ยวเฉา ชีวิตที่ไร้พลังของเขาไปได้อย่างสิ้นเชิง เขาได้เรียนรู้วิถีชีวิตของหมึกสายตัวนี้ถึงกว่า 80% ของวงจรชีวิตมัน ชีวิตหมึกที่อยู่โดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไม่ต่างจาก “เครก” ที่กำลังรู้สึกปลีกตัวเองออกมาจากสังคมมากขึ้นทุกขณะ

แม้โทนเรื่องราวในสารคดีอาจจะถูกมองในแบบฉบับเรื่องของนักทำหนังผู้โดดเดี่ยว กับหมึกสายนักสันโดษจะได้มาเจอกันจนอาจจะดูเป็นมิตรภาพระหว่างคนกับสัตว์ แต่หนังสารคดียังคงเคารพแนวทางการถ่ายสารคดีสัตว์ไว้ได้ “เครก” ไม่ได้ริอ่านจะไปตั้งชื่อเรียกให้เจ้าหมึกสาย เพื่อนรักสัตว์ใต้น้ำที่คุ้นเคยกันมาแรมปี และที่สุดก็ไม่คิดจะก้าวล่วงวงจรชีวิตธรรมชาติ แม้ในยามเพื่อนคับขัน “เครก” ทำหน้าที่เพียงติดตามและสังเกตปรากฏการณ์นั้น ถึงจะมีหนหนึ่งที่เขาฝ่ากฎเล็กๆ อยู่บ้าง แต่ก็เรียนรู้ในที่สุดว่ามันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น