6 Views
Nights Of Cabiria (1957)  ซับไทย
8.1 IMDB Rating

Nights Of Cabiria (1957) ซับไทย

(Nights of Cabiria)
  • ฉายปี
  • ประเทศ
  • ผู้ผลิตหนัง Paramount Pictures
  • Film Süresi 110 min
หมวดหมู่
ผู้กำกับ
นักเขียน Federico Fellini, Ennio Flaiano, Tullio Pinelli
รางวัล Won 1 Oscar. 18 wins & 8 nominations total
ชีวิตของหลายคน คือการดิ้นรนเพื่อไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีกว่า ชีวิตที่ดีกว่า บางคนผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นความผิดหวังที่เจ็บปวดเพราะถูกหลอก ถูกปอกลอกและเอาเปรียบ แต่ก็ไม่ย่อท้อ ลุกขึ้นมาหาทางใหม่ต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นเสมอว่า ทางที่ดีกว่านั้นมีจริง


นี่คือชีวิตของ Cabiria ผู้ถูกสถานการณ์ความอดอยากยากแค้นหลังสงครามบังคับให้ขายบริการทางเพศเพื่อความอยู่รอด

Le Notti di Cabiria (The Nights of Cabiria ค่ำคืนของคาบีเรีย 1957) เป็นผลงานชั้นครูของ Federico Fellini (1920-1993) ซึ่งคนไม่ค่อยรู้จัก เพราะถูกบดบังด้วยหนังดังๆ ของแฟลลีนี ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ในฐานะภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมถึง 4 เรื่อง (La Strada, Le Notti di Cabiria, 8 ½, Amarcord) รวมทั้งออสการ์เกียรติยศสูงสุดในฐานะผู้ทรงคุณค่าแห่งโลกภาพยนตร์ในปี 1992

อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 1998 มีการนำ Le Notti di Cabiria ออกมาปัดฝุ่นแปลงให้เป็นดีวีดีทำให้คนทั่วโลกได้เริ่มรู้จักและชื่นชมงานสำคัญชิ้นนี้

แฟลลีนีได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับชั้นปรมาจารย์ของวงการภาพยนตร์โลกก็ว่าได้ เขาเริ่มเข้าสู่วงการในยุค “นวสัจนิยม” (Neorealism) โดยเคยช่วยงาน Rossellini ในการทำหนังเรื่อง Rome Open City (1945) และได้รับอิทธิพลจากการทำหนังแนวดังกล่าวไม่น้อย ดังจะเห็นจากหลายเรื่องก่อน Le Notti di Cabiria ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขายังยึดหลักใหญ่ๆ ของแนวนวสัจจนิยม จากนั้นเขาพัฒนาแนวทางของตนเอง โดยใช้ภาพเหนือจริงและสัญลักษณ์ต่างๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

ดารานำใน “ค่ำคืนของคาบีเรีย” คือ Giuletta Masina ภรรยาของแฟลลีนีนั่นเอง ซึ่งประสบความสำเร็จมาจาก La Strada หนึ่งปีก่อนนั้น (แสดงคู่กับแอนโทนี ควินน์) ใน “ค่ำคืนของคาบีเรีย” เธอก็แสดงได้ดีจนได้รับรางวัลผู้แสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจากงานเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองคานส์

ใครที่เห็นบทบาทของจูเลียตตา มาซีนาในสองเรื่องนี้ต้องนึกถึงชาร์ลี แชปลิน เห็นอะไรที่คล้ายกันเหลือเกิน แสดงเป็นคนพเนจรในแนวตลกแกมเศร้าได้อย่างยอดเยี่ยม มีภาษาท่าทางที่บอกอะไรได้ดีกว่าคำพูดเสียอีก ตาโตคิ้วตรงเป็นเอกลักษณ์ ร่างเล็กๆ เดินเหินตามแบบฉบับเฉพาะ

ชีวิตของคาบีเรียดูเหมือนจะไม่ลำบากเท่าไรนักถ้าหากเทียบกับคนอีกจำนวนมาก เธอมีบ้านอยู่ แม้จะดูไม่ค่อยจะเป็นบ้านนัก เป็นเหมือนกล่องอิฐแถวชานกรุงโรม แต่เธอก็มีที่ซุกหัวนอนอย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีเงินใช้ไม่อดอยาก เธอหวังเสมอว่าวันหนึ่งเธอต้องพบคู่ชีวิต คนที่รักเธอและคนที่เธอรัก จะได้เลิกอาชีพนี้และมีครอบครัวเหมือนคนทั่วไป เธอมองโลกในแง่ดี มองคนในแง่ดีเสมอ เพื่อนๆ เตือนว่าเธอมองอะไรใสบริสุทธิ์เกินไป ไม่มีอะไรและไม่มีใครใสสะอาดปานนั้น

และก็จริงอย่างที่ใครๆ เป็นห่วง เริ่มต้นหนังเธอก็ถูกเพื่อนชายผลักตกน้ำเกือบจมน้ำตาย ขโมยเงินไป เธอไม่เข้าใจว่าแฟนของเธอที่ดูเป็นคนดีน่ารักจะหักหลังทำกับเธอเพียงเพื่อเงินสี่หมื่นลีร์ (พันกว่าบาท) ได้ แต่วันดาเพื่อนของเธอบอกว่า ไม่ต้องพันกว่าหรอก ร้อยกว่ามันจะยังจะฆ่าเธอเลย

คาบีเรียไม่เข้าใจ เพราะไอ้หนุ่มคนนั้นมันมาอยู่กินกับเธอเกือบเดือน อยากได้อะไรเธอก็ซื้อให้ แม้เสื้อผ้าไหมเธอก็หาให้ใส่ แล้ววันหนึ่งมันก็คิดจะฆ่าเธอเพียงเพราะเงินแค่นั้นได้อย่างไร

แต่ชีวิตของเธอก็จะได้บทเรียนคล้ายกันนี้อีกหลายบท เธอซื่อบริสุทธิ์เกินไป ไว้ใจผู้ชายมากเกินไป มองโลกในแง่ดีมากเกินไป ทำให้ใครๆ หลอกเอาได้ง่ายๆ เอารัดเอาเปรียบ หรือทำกับเธอประหนึ่งเป็นวัตถุสิ่งของ ไม่ว่าจะเป็นดาราหนังที่ทะเลาะกับแฟนแล้วพาเธอไปเที่ยวและพาไปอพาร์ตเมนต์ของเขา หรือการสะกดจิตล้วงความลับของเธอบนเวทีที่มีคนดูเป็นผู้ชายเต็มห้อง รวมทั้งฉากสุดท้ายที่สะท้อนความเจ็บปวดสุดบรรยายอันเกิดจากความเลวร้ายของมนุษย์

คาบีเรียเชื่อในความจริงใจของคน เธอมักเชื่อว่าได้พบรักแท้เมื่อมีผู้ชายมาจีบ คนแล้วคนเล่าเธอก็ไม่เคยเรียนรู้หรือลดความเชื่อในผู้คน คงเป็นเพราะเธอต้องการชีวิตที่ดีกว่า ต้องการออกจากชีวิตแบบนี้ ต้องการมีชีวิตเหมือนคนธรรมดามากเสียจนลืมความเป็นจริงที่เป็นด้านเลวของมนุษย์ เธอทำตัวเหมือนคนซื้อหวย หวยออกกี่ครั้งไม่เคยถูก แต่ก็ไม่เคยลดละหรือเลิกหรือหมดหวัง

เธอร่วมกับเพื่อนเดินทางไปจาริกแสวงบุญ ไปสวดขอแม่พระให้ช่วยให้ชีวิตของพวกเธอเปลี่ยน ให้พวกเธอพ้นทุกข์ ทุกข์ทางกายสำหรับคนที่พิการ ทุกข์ทางใจ ทุกข์เพราะยากจนขัดสน แต่ลึกๆ เธอไม่เชื่อว่าจะมีปาฏิหาริย์ทำให้ชีวิตคนเปลี่ยนได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงต้องมาจากข้างในมากกว่า เธอเองบอกเสมอว่า เธอไม่ได้ขาดอะไรเลย ที่ต้องการจริงๆ คือคนรักเธอจริงที่ต้องการร่วมชีวิตกับเธอ สร้างครอบครัวมีลูกมีหลานเหมือนชาวบ้านทั่วไป

มีอยู่สองฉากที่เธอเปิดเผยชีวิตที่แท้จริงของเธอ ฉากที่นั่งรถกลับจากนอกเมืองกับชายใจบุญที่นำข้าวของไปให้คนยากไร้ที่อาศัยอยู่ตามถ้ำตามรู เธอประทับใจการกระทำของชายผู้นั้นมาก จนบอกชื่อจริงและที่อยู่ของเธอให้เขาทราบ นั่นคือความรู้สึกลึกๆ ของเธอที่ชื่นชมคุณธรรมความดี และพร้อมที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงของเธอ

อีกฉากหนึ่งเปิดเผยเมื่อโดนสะกดจิตบนเวที เหมือนกับทั้งชีวิตที่เธอถูกผู้ชาย “สะกดจิต” วันนั้นใครๆ รู้หมดว่าเธอเป็นใครมาจากไหน มีบ้านมีบัญชีในธนาคาร และนั่นคือที่มาของการพบกับหนุ่มรูปหล่อที่เธอเชื่อแบบไม่เคยเชื่อใครมาก่อนว่า เขาคือเทพบุตรลูกผู้ชายตัวจริง หลังจากนัดพบหลายครั้งเขาขอเธอแต่งงาน เธอขายทุกอย่าง ถอนเงินจากธนาคาร หอบข้าวของจะไปตั้งต้นชีวิตใหม่กับเขา

แล้วเหตุการณ์ซ้ำซากก็เกิดขึ้นอีกจนได้ แม้เธอไม่ได้ถูกผลักตกหน้าผา แต่ก็ถูกฆ่าทางใจอย่างทารุณโหดร้าย จากผู้ชายซึ่งไม่ได้รักเธอจริงๆ หวังเพียงได้สมบัติของเธอเท่านั้น เธอขอร้องให้เขาฆ่าเธอให้ตายไปดีกว่าจะมีชีวิตอยู่ต่อไป “พอแล้ว ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว ผลักฉันลงไปสิ เอาสิ” เธอร้องไห้กับความโหดร้ายทารุณของชีวิต

เธอยกเงินทั้งหมดให้เขาโดยที่เขายังไม่ได้แย่ง บอกให้เอาไปเลย เธอต้องการประชดความอยุติธรรมที่ผู้คนทำกับเธอได้ลงคอ เธอนอนเกลือกกลิ้งด้วยหัวใจแตกสลายและจิตใจที่ปวดร้าว จนกระทั่งได้ยินเสียงเพลงมาแต่ไกล เพลงที่เด็กหนุ่มหญิงสาวกลุ่มหนึ่งกำลังเล่นดนตรีและร้องรำตามถนน เธอลุกขึ้นและค่อยๆ เดินสวนทางหนุ่มสาวเหล่านั้น

หนังจบด้วยภาพใบหน้าของคาบีเรียที่ยิ้มเปื้อนน้ำตา เธอได้พบปาฏิหาริย์ครั้งสำคัญ เธอยังมีชีวิตอยู่ รอดมาได้ไม่ถูกฆ่า ที่สำคัญ เธอได้ค้นพบความกล้าหาญภายในตัวเธอ กล้าที่จะลุกขึ้นเดินเพื่อเผชิญชีวิตที่ดูโหดร้ายนี้ต่อไป จะมีอะไรยิ่งใหญ่กว่านี้ในชีวิตคนเรา

บทเพลงที่ได้ยินในตอนสุดท้ายก็เป็นบทเพลงเดียวกับที่เราได้ยินตลอดหนังเรื่องนี้ที่เล่นโดยนักดนตรีข้างถนนจนถึงนักดนตรีในไนท์คลับ ออกไปถึงคนเล่นแอคคอร์เดียนในทุ่งหญ้า ไปยังนักเปียโนในห้องแสดงคอนเสิร์ต และสุดท้ายเล่นด้วยเครื่องดนตรีหลายชนิดโดยหนุ่มสาว ประหนึ่งอยากบอกว่า ชีวิตของคาบีเรียก็เหมือนบทเพลงนี้ที่ถูก “เล่น” โดยโชคชะตา ส่งต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง

ดนตรีเศร้าๆ ที่ไพเราะอย่างยิ่งในหนังเรื่องนี้เป็นฝีมือของ Nino Rota ซึ่งกลายเป็นคู่หูทำดนตรีให้แฟลลีนีในหนังของเขาเกือบทุกเรื่อง จนกระทั่งเราได้ฟังผลงานไพเราะสุดคุ้นหูของเขาอีกครั้งใน The Godfather (Speak Softy Love) ซึ่งผู้กำกับ Francis Ford Coppola ไปขอให้เขามาช่วยเขียนดนตรีให้

ดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกที่กรุงโรมเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนเพื่อเรียนรู้ภาษาและไวยากรณ์หนังและค้นหาสาระสำคัญที่อยู่ลึกลงไปจากภาพที่เห็น ได้ดูอีกครั้งจากดีวีดีก่อนเขียนเรื่องนี้ มีความรู้สึกเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ชีวิตคนเราบ่อยครั้งเหมือนโชคชะตาเล่นตลก แต่ก็มีคนอย่างคาบีเรียที่รอดมาได้และเริ่มค้นหาชีวิตที่ดีกว่าต่อไป ค้นหาด้วยความหวังและเชื่อมั่นแบบไม่ยอมแพ้

ดูหนังแล้วก็คิดถึงหญิงไทยเป็นหมื่นเป็นแสนที่สถานการณ์บังคับให้ต้องขายบริการทางเพศเพื่อแลกกับการมีชีวิตอยู่ แม้จะถูกดูหมิ่นดูแคลนและเป็นงานที่ไม่มีเกียรติ ไม่มีศักดิ์ศรี แต่มีใครช่วยพวกเขาให้พ้นจากสภาพเช่นนั้นได้ สภาพที่พวกเขาใช่ว่าต้องการจะอยู่ไปจนตาย พวกเขาไม่ใช่คนล้มละลายทางศีลธรรม หลายคนมีชีวิตคล้ายคาบีเรีย ถูกเอาเปรียบแล้วถีบทิ้ง เป็นเหยื่อของสถานการณ์ มิใช่คนรนหาชีวิตแบบนี้และอยากอยู่เช่นนี้ตลอดไป พวกเขาต้องการพ้นจากสภาพที่อยู่อย่างขืนใจนี้

หญิงไทยหลายหมื่นหลายแสนเหล่านี้ดิ้นรนเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าในหรือต่างประเทศเป็นคนที่ควรได้รับการมองและปฏิบัติต่ออย่างคนที่มีศักดิ์ศรี พวกเขาคงไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเช่นนั้น แต่เกิดมาและมีความต้องการเหมือนกับเราทุกคน คือต้องการชีวิตที่ดีมีความสุข แต่สังคมไม่ได้ให้ความเป็นธรรม ไม่มีที่ให้พวกเขายืน

ถ้าทำอะไรให้พวกเขาไม่ได้ แค่มองพวกเขาอย่างเพื่อนมนุษย์ เพื่อนร่วมโลกด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ไม่เอาเปรียบและข่มเหงซ้ำเติมก็ถือว่าได้ช่วยพวกเขามากแล้ว